เมื่อเหล็กจีนราคาร่วงแรง สะเทือนถึงการคลังออสเตรเลีย

22 สิงหาคม 2567
เมื่อเหล็กจีนราคาร่วงแรง สะเทือนถึงการคลังออสเตรเลีย
จีนซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดในโลก ได้ส่งออกเหล็กราคาถูกสู่ตลาดโลกอย่างถล่มทลายในปี 2023 ที่ผ่านมา (หลังจากที่ชะลอลงในช่วงหลายปีก่อนหน้า) ทั้งด้วยความตั้งใจที่จะแข่งขันด้วยราคา และด้วยความจำเป็นที่ต้องระบายผลผลิตออก เนื่องจากวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ บวกกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ดีมานด์เหล็กในประเทศจีนหดตัวลง

ราคาเหล็กที่ร่วงต่ำลงกำลังส่งผลต่องบประมาณของออสเตรเลีย ประเทศที่ผลิตแร่เหล็กมากอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งพึ่งพาการส่งออกแร่เหล็กไปยังจีนในสัดส่วนที่สูงมาก
กระทรวงการคลังของออสเตรเลียเพิ่งออกบทวิเคราะห์เตือนเมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า ออสเตรเลียกำลังเผชิญกับช่องโหว่งบประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 69,050 ล้านบาท) เนื่องจากราคาแร่เหล็กร่วงลงต่ำเร็วกว่าที่คาดการณ์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีน

รายงานที่เผยแพร่โดย จิม ชาร์ลเมอร์ส (Jim Charlmers) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออสเตรเลียระบุว่า ราคาสปอตของการส่งออกแร่เหล็กของออสเตรเลียเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (16 สิงหาคม) ลดลง 38% นับตั้งแต่ต้นปี (YTD) และลดลง 7.5% จากสัปดาห์ก่อนหน้า เหลือราคา 81.80 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

การร่วงลงของราคาเหล็กอยู่ในทิศทางที่จะลงไปสู่ราคาตั้ง (Anchor Price) ที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลียคาดการณ์ไว้ว่าราคาจะลงไปถึงจุดนั้นในเดือนมีนาคม 2025 แต่หากราคาเหล็กร่วงลงไปถึงจุดนั้นภายในเดือนกันยายนนี้ จะทำให้รายได้ภาษีของรัฐบาลออสเตรเลียลดลงถึง 3,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย และนั่นจะเกิดช่องโหว่ทางการคลังในจำนวนนี้

ทั้งนี้ ก่อนหน้าจะมีการเปิดเผยรายงานนี้ กระทรวงการคลังออสเตรเลียคาดการณ์ว่าจะมีการขาดดุลงบประมาณ 28,300 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ในปีงบประมาณปัจจุบัน แต่เมื่อรายรับจะหายไป 3,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ก็หมายความว่ารัฐบาลออสเตรเลียอาจต้องเพิ่มการขาดดุลงบประมาณอีก 3,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย

ในปีงบประมาณ 2023-2024 ซึ่งสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ออสเตรเลียส่งออกแร่เหล็กเป็นมูลค่า 138,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 317,620 ล้านบาท) แต่รายงานของรัฐบาลที่เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน คาดว่ารายได้จากการส่งออกเหล็กจะลดลงเหลือ 114,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 262,385 ล้านบาท) ในปีงบประมาณ 2024-2025 และเหลือ 102,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 234,765 ล้านบาท) ในปีงบประมาณ 2025-2026 เนื่องจากคาดว่าราคาเหล็กจะลดลงอีก

จากตัวเลขการค้าในปี 2023 การส่งออกแร่เหล็กของออสเตรเลียประมาณ 85% ของการส่งออกทั้งหมดนั้นเป็นการส่งไปยังจีน ขณะที่จีนครองสัดส่วนการผลิตเหล็กราวครึ่งหนึ่งของการผลิตเหล็กทั้งหมดในโลก

การวิเคราะห์ของกระทรวงการคลังออสเตรเลียตั้งข้อสังเกตว่า ตัวชี้วัดหลายตัวดูน่าเศร้าสำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์จีน ซึ่งรัฐมนตรีคลังออสเตรเลียกล่าวในแถลงการณ์ว่า “ความอ่อนแอของเศรษฐกิจจีนและราคาแร่เหล็กที่ลดลงเมื่อเร็ว ๆ นี้ ถือเป็นเครื่องเตือนใจอีกประการหนึ่งว่า เราไม่รอดจากความผันผวนและความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลก”

“นี่คือเหตุผลที่เราใช้แนวทางที่ระมัดระวัง และระมัดระวังอย่างมากในการคาดการณ์ราคาแร่เหล็กและรายได้ของกระทรวงการคลัง เรากำลังติดตามการพัฒนาเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เพราะว่ามันอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและงบประมาณของเรา”

นอกจากคำเตือนของกระทรวงการคลังออสเตรเลียแล้ว ไม่กี่วันก่อนหน้านั้น บริษัท ไชน่า เปาอู่ สตีล กรุ๊ป คอร์ป. (China Baowu Steel Group Corp.) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดในโลกได้เตือนว่า อุตสาหกรรมเหล็กกำลังเผชิญกับ “ฤดูหนาวที่รุนแรง” ด้วยเงื่อนไขที่เลวร้ายยิ่งกว่าการตกต่ำที่เคยเกิดขึ้นในปี 2008 และ 2015
แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.